วิชาพระพุทธศาสนา

         ใบความรู้ที่   6

ความสำคัญและคุณค่าของพระไตรปิฎก

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่   4

ภาคเรียนที่  1

นาง  จุฬาภรณ์  พรหมบุตร

 

เรื่อง  ความสำคัญและคุณค่าของพระไตรปิฎก

         พระไตรปิฎก  เป็นคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา เนื่องจากได้บรรลุหลักคำสั่งสอน   ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น  84000   พระธรรมขันธ์ไว้ โดยจัดเป็นหมวดหมู่ได้ 3 หมวดหมู่ตามลักษณะเนื้อหา ดังนี้

1.      หมวดพระวินัย  เรียกว่า  พระวินัยปิฎก

2.      หมวดพระสูตร  เรียกว่า  พระสุตตันตปิฎก

3.      หมวดพระอภิธรรม  เรียกว่า  พระอภิธรรมปิฎก

     การที่พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมหลักคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาไว้ทั้งหมด ทำให้ชาวพุทธทุกคน รวมทั้งคนในศาสนาอื่นๆ ได้ศึกษาความเป็นมาของพระพุทธศาสนาได้อย่างกว้างขวางและเข้าใจดีอย่างยิ่งขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้เกิดในสมัยพุทธกาลก็ตาม และเราก็สามารถเชื่อได้สนิทใจว่า  คำสอนต่างๆ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้นเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ผู้เป็นบรมครูของโลกอย่างแน่นอน  ทั้งนี้ เนื่องจากในคราวสังคายนาครั้งที่ 1 พระอานนท์ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า  พระพุทธเจ้าทรงอนุญาติให้ยกเลิกสิกขาบท ( ศีล ) เล็กน้อยเสียบ้างก็ได้  แต่ที่ประชุมหาข้อยุติไม่ได้ว่าสิกขาบทเล็กน้อยนั้นคืออะไร และหากจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยตามที่พระพุทธเจ้าอนุญาติก็จะถูกติเตียนจากผู้อื่นได้ว่า ปฏิบัติตามเฉพาะเมื่อพระพุทธเจ้าดำรงพระชนม์อยู่เท่านั้น พอพระพุทธเจ้าปรินิพพานก็ยกเลิกเสีย ที่ประชุมจึงมีมติไม่ให้ถอนสิกขาบทใดๆทั้งสิ้นและปฏิบัติตามเหมือนเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าดำรงพระชนม์อยู่ ซึ่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทยในปัจจุบันก็เป็นนิกายที่สืบต่อเนื่องมาจากกลุ่มนี้ 

   พระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์พระพุทธศาสนา ที่มีข้อความมากที่สุดคัมภีร์หนึ่ง การศึกษาพระไตรปิฎก จึงก่อให้เกิดประโยชน์มากมายแก่ผู้ศึกษา  ดังนี้

        1. มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ชัดเจน   ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา      เนื่องจากพระไตรปิฎกถือเป็นคัมภีร์แม่บทของคัมภีร์ทุกชนิดในพระพุทธศาสนา  ข้อความในคัมภีร์ใดที่ขัดแย้งกับข้อความในพระไตรปิฎก ถือว่าไม่ถูกต้องเป็นโมฆะ

           ดังนั้น เมื่อเราศึกษาข้อความธรรมจากคัมภีร์หรือหนังสือธรรมะใดๆ ก็ตาม หากมีความสงสัยว่าธรรมนั้นถูกต้องหรือไม่  ความหมายที่แท้จริงเป็นอย่างไร  ก็สามารถตรวจสอบได้จากคัมภีร์  พระไตรปิฎก  ถ้าถูกต้องสอดคล้องกับพระไตรปิฎกก็สามารถเชื่อถือและนำไปอ้างอิงได้แต่ถ้ามีความแตกต่างกันก็จะต้องยึดถือคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นเกณฑ์ไว้ก่อน   ด้วยเหตุนี้การศึกษา            พระไตรปิฎกจึงทำให้เกิดความมั่นใจในหลักคำสั่งสอนหรือข้อความที่ศึกษานั้นว่าเป็นพุทธธรรมที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าจริงๆ

2.      มีความเห็นถูกต้องและปฏิบัติถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนา  คุณค่าหรือประโยชน์ข้อนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนั่นเอง

3.      ได้รับผลจากการปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ไม่บกพร่อง   เช่น  การมีความเพียรพยายาม ที่ถูกต้องก็จะให้ประสบความสำเร็จได้ ( วิริเยนะ  ทุกขะมัจเจติ ) ซึ่งหากเราไม่รู้หลักการทำความเพียรพยายามที่ถูกต้อง  ก็จะทำให้ปฏิบัติอย่างผิดๆ และส่งผลต่อไป  คือ  การได้รับผลของความเพียรพยายามน้อยหรือไม่ได้รับเลย

             อนึ่ง  คุณค่าหรือประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาพระไตรปิฎกในภาพรวมก็คือ  การมีความรู้ความเข้าใจหลักพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง  ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง และได้รับผลของการปฏิบัติอย่างเต็มที่สมควรแก่การปฏิบัติ

               จากที่กล่าวมา  จะเห็นว่า  พระไตรปิฎกมิใช่คัมภีร์ที่ศักดิ์สิทธ์ที่ใครๆไม่อาจแตะต้องได้ หรือใส่ตู้ไว้บูชาอย่างที่เข้าใจกัน เพราะหากเป็นเช่นนั้น ความรู้ต่างๆที่บรรจุในพระไตรปิฎกก็จะไร้ค่าทั้งอาจจะทำให้เกิดการนับถือพระพุทธศาสนาในทางที่ผิดได้ ดังนั้น  การปฏิบัติต่อพระไตรปิฎกที่ถูกต้อง คือ การตั้งใจและสนใจศึกษาค้นคว้าหาความรู้ต่างๆในพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง  นำความรู้ในพระไตรปิฎกไปเผยแผ่แก่ผู้อื่น  รวมทั้งปฏิบัติตามคำสอนที่ปรากฏในพระไตรปิฎก  อันจะเป็นผลให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่ยั่งยืนต่อไป รวมทั้งผู้ปฏิบัติจะได้รับผลของการปฏิบัติตามสมควรแก่การปฏิบัตินั้น

 

เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎก

        แม้พระไตรปิฎกจะมีเนื้อหาสาระที่ชาวพุทธควรศึกษาเรียนรู้  เพื่อปฏิบัติตนให้ถูกต้อง แต่เนื่องจากพระวินัยปิฎกมีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับพระวินัย  ข้อปฏิบัติของพระภิกษุและ          พระภิกษุณีจะมีหลักคำสอนและความรู้เกี่ยวกับหลักธรรมอยู่บางส่วน  ส่วนพระอภิธรรมปิฎกมีเนื้อหากล่าวถึงหลักคำสอนที่เป็นหลักวิชาล้วน  ( สภาวธรรม )     ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคล        เหตุการณ์  หรือสถานที่ใดๆ เป็นเรื่องลึกซึ้ง เข้าใจยาก  ดังนั้นเรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎกและหลักธรรมต่างๆ     ที่นำมาสอนส่วนใหญ่จึงนำมาจากพระสุตตันตปิฎก     ทั้งนี้  เพราะ           พระสุตตันตปิฎกมีเนื้อหาสาระกล่าวถึงบุคคล เหตุการณ์ และสถานที่  เป็นเรื่องราว ทำให้       น่าสนใจและติดตามศึกษา

          เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎกที่นำมาให้นักเรียนได้ศึกษาทั้งหมด  จะนำมาโดยพยายามคงศัพท์และสำนวนในพระไตรปิฎกไว้  เพื่อให้นักเรียนได้คุ้นกับลักษณะภาษาในพระไตรปิฎก เมื่อมีโอกาสได้ศึกษาพระไตรปิฎกจริงๆจะได้ไม่หลงประเด็นที่น่าสนใจ

           เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎกมีจำนวนมากสำหรับชั้นนี้กำหนดให้นักเรียนศึกษาเพียง           1  เรื่อง  คือ  การครองตนเป็นพลเมืองที่ดี

 

 

 

              การครองตนเป็นพลเมืองที่ดี

      การครองตนเป็นพลเมืองที่ดี  มาจากขุททกนิกาย   ชาดก   พระสุตตันตปิฎก  พระไตรปิฎก  เล่มที่  28  ข้อ  949  หน้า  332  มีใจความสำคัญสรุปได้ดังนี้

       การครองตนเป็นพลเมืองที่ดีนำชีวิตและครอบครัวของตนไปสู่ความสงบสุข ความเจริญ และเป็นพลเมืองที่สร้างสรรค์สังคม  โดยประพฤติ   ดังนี้

1.      ไม่คบชู้สู่ชาย  มั่วหมกมุ่นในทางเพศ

2.      ไม่ใจแคบเสพสิ่งเลิศรสผู้เดียว

3.      ไม่พร่าเวลาถกถ้อยที่เลื่อนลอยไร้สาระ

4.      ประพฤติดี  มีวินัย  ตั้งอยู่ในศีล 5

5.      ปฏิบัติกิจหน้าที่สม่ำเสมอ โดยสม่ำเสมอ

6.      ไม่ประมาท  กระตือรือร้นทุกเวลา

7.      มีวิจารณญาณ  ทำการโดยใช้ปัญญา

8.      สุภาพ  ไม่ดื้อกระด้าง  ยินดีรับฟังผู้อื่น

9.      เสงี่ยมงาม  รักความประณีตสะอาดเรียบร้อย

10.  พูดจาน่าฟัง  ทั้งใจกายก็อ่อนโยน  ไม่หยาบคาย

11.  มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ  สงเคราะห์ต่อมิตรสหาย

12.  เผื่อแผ่แบ่งปัน  ช่วยเหลือคนทั่วไป

13.  รู้จักจัดการงานให้เรียบร้อยและได้ผลดี

14.  บำรุงพระสงฆ์ผู้ทรงความรู้  ทรงศีล  และทรงธรรม